วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สถานท่องเที่ยวในจังหวัด จันทบุรี
เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำประแสร์ แม่น้ำสายหลักของจังหวัดระยอง มีพื้นที่ 83.68 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมกิ่งอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และ อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอุทยานฯ ในเขตจันทบุรี ได้แก่
ถ้ำเขาวง อยู่บ้านเขาวงกต ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งเขาหินปูน และป่าดงดิบ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ต้นจันทน์ผาซึ่งปัจจุบันนี้นับเป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาก สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นี่ คือ เลียงผาจุดเด่นของที่นี่คือมีการสำรวจพบถ้ำถึง 80 กว่าแห่ง ถ้ำที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีประมาณ 20 ถ้ำ แบ่งเป็น 3 โซน ถ้ำทั้งหมดมีทางเชื่อมถึงกัน ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็เที่ยวทั่ว สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้จากหน่วยพิทักษ์อุทยานที่เขาวง การเข้าชมถ้ำควรนำไฟฉายติดตัวไปด้วยเนื่องจากในถ้ำไม่มีแสงสว่างบางถ้ำมีประวัติที่พิสดาร เช่น “ถ้ำโรงบ่อน” เมื่อสมัยก่อนประกาศเป็นอุทยานฯ พ.ศ. 2518 ชาวบ้านมักจะแอบมาเล่นการพนันที่นี่เพราะลับตาตำรวจ บางถ้ำกว่าจะถึง ระหว่างทางที่เดินไปทำให้เราได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ เช่น “ถ้ำลอด” ต้องลุยน้ำปริ่มเข่าเข้าไปจนถึง จุดเด่นของถ้ำคือ น้ำที่ไหลลงมาจากผาเหมือนน้ำตกน้อยๆในถ้ำ “ถ้ำชุมแสง” จะสวยงามมากเมื่อต้องแสงอาทิตย์ยามบ่าย ยังมี”ถ้ำละคร”ซึ่งมีค้างคาวอาศัยอยู่มากจนชาวบ้านบางครั้งยังขึ้นมาขุดขี้ค้างคาวไปใช้เป็นปุ๋ยใส่ต้นเงาะ ทุเรียนในสวน แต่เนื่องจากถ้ำละครอยู่ใกล้จึงมีคนมาเที่ยวมาก ถ้ำจึงทรุดโทรม นักท่องเที่ยวบางคนชอบหักหินงอกหินย้อยเล่น ผนังถ้ำจึงเป็นรอยอยู่ทั่วไป โดยที่ไม่ทราบว่าคราบเหงื่อ หรือไขมันที่ผิวหนังจะทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตหรือแคลไซต์ไม่สามารถเชื่อมติดกันได้ ฉะนั้นเพียงเราสัมผัสเบาๆที่หินงอกหินย้อยนั้นก็อาจทำให้มันไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อีก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือตายไปนั่นเอง
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานฯ ในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มิลลิเมตร ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศเย็นสบาย และฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 26-27 องศาเซลเซียส เดินทางไปตามเส้นทางระยอง-จันทบุรี ก่อนถึงตัวเมืองจันท์ราว 40 กิโลเมตร แยกซ้ายจากถนนสุขุมวิทที่ กม. 288 เข้าทางหลวงหมายเลข 3344 บริเวณตลาดนายายอามเป็นระยะทาง 15 กิโลเมตร
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบริการ บ้านพัก ไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 6 หลัง พักได้ 4-7 คน ราคา 800-1,600 บาท ค่ายพักแรม พักได้ 30 คน ราคา 3,000 บาท และมีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 2-4 คน ราคา 150-500 บาท ในกรณีที่นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ ราคา 30 บาท/คน/คืน
สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง โทร. 03889 4378 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ก่อนถึงท่าเทียบเรือ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112)เมื่อฝรั่งเศสได้เข้ายึดจันทบุรี ในกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ระหว่างนั้นกองทหารฝรั่งเศสประมาณ 600 คน แยกกันอยู่สองแห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ที่เมืองจันทบุรี บริเวณที่เป็นค่ายทหารในปัจจุบัน อีกแห่งอยู่ที่ปากน้ำแหลมสิงห์ ฝรั่งเศสได้สร้างคุกขี้ไก่เพื่อใช้กักขังคนไทยที่ต่อต้านฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นหอสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละประมาณ 4.40 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร มีช่องระบายอากาศอยู่สองแถว หลังคาโปร่ง เล่ากันว่าเป็นคุกที่ทรมานมาก เพราะชั้นบนใช้เป็นที่เลี้ยงไก่ ซึ่งจะถ่ายมูลราดศีรษะนักโทษที่ถูกคุมขังตลอดเวลา การเดินทาง คุกขี้ไก่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (จันทบุรี-ตราด) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3149 ก่อนถึงอำเภอแหลมสิงห์ตั้งอยู่ทางด้านขวามือ
อยู่ในเขต อำเภอแหลมสิงห์ บนเทือกเขาสระบาป มีเนื้อที่ทั้งหมด 84,063 ไร่ (134.5 ตารางกิโลเมตร) พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่พบเช่น ขนุนป่า กระท้อนป่า พิมเสนขึ้นอยู่ทั่วไป และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อีกมากมาย ที่เห็นได้บ่อยคือ หมูป่า เลียงผา พังพอน กระแต หมีควาย ชะนี ลิง ฯลฯ และยังเป็นที่อยู่ของปลานานาชนิด เช่น ปลาพลวง ปลาดุก ปลาฉาก
คำว่า “พลิ้ว” กล่าวกันว่าเป็นภาษาชอง ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิม แปลว่า ทราย หรือ หาดทราย แต่เข้าใจกันว่า น้ำตกพลิ้วคงจะได้ ชื่อมาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชอบขึ้นในดินปนทราย เป็นไม้เถามีดอกเป็นผลเล็กขนาดลูกเกด สีเหลืองอมแดง ขึ้นทั่วไปในแถบนี้ น้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี น้ำใสมองเห็นพื้นล่าง ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายภายในอุทยานฯแห่งนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ
น้ำตกคลองนารายณ์ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “น้ำตกเขาสระบาป” อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 8 กิโลเมตร บนเส้นทางสายจันทบุรี-แหลมสิงห์ น้ำตกแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ต้องเดินลัดเลาะผ่านป่าซึ่งยังคงความอุดมสมบูรณ์และความงดงามตามธรรมชาติ สายน้ำตกสูง 25 เมตร บรรยากาศเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบอย่างแท้จริง
น้ำตกพลิ้ว ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 200 เมตร น้ำใสเหมาะกับการลงเล่นน้ำ ก่อนถึงตัวน้ำตกจะมีแอ่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาพลวง และจะพบเฉพาะตามลำธารน้ำตกบางภาคเท่านั้น และในบริเวณน้ำตกพลิ้วยังมีโบราณสถานที่สำคัญอยู่สองแห่ง ได้แก่
อลงกรณ์เจดีย์ สร้างด้วยศิลาแลงเมื่อ พ.ศ. 2419 โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อ พ.ศ. 2417 ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยในน้ำตกพลิ้วมาก จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า “อลงกรณ์เจดีย์”
ปิรามิดพระนางเรือล่ม เป็นสถูปทรงปิรามิดสร้างด้วยหินแกรนิต เมื่อ พ.ศ.2424 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความรักที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีต่อพระนางเจ้าสุนันทาฯ หลังจากที่พระองค์เสด็จทิวงคตเนื่องจากเรือพระประเทียบล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในปิรามิดบรรจุพระอังคารส่วนหนึ่งของพระองค์ไว้ด้วย กรมแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีบริการบ้านพักในบริเวณน้ำตกพลิ้วด้วย สำรองล่วงหน้าที่ โทร. 0 2562 0760
น้ำตกตรอกนอง อยู่ทางทิศตะวันตกของน้ำตกพลิ้ว ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 26 กิโลเมตร ไปตามถนนสุขุมวิท เส้นทางจันทบุรี-ขลุง เมื่อถึงสี่แยก อำเภอขลุง เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางสาย อำเภอขลุง-อำเภอมะขาม ประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านตรอกนอง ทางแยกเข้าน้ำตกอยู่ทางซ้ายมือ เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯน้ำตกพลิ้วที่ 1 (น้ำตกตรอกนอง)
น้ำตกตรองนองมี 3 ชั้น ชั้นแรก ชื่อ “น้ำตกไม้ซี้” (ไม้ซี้ แปลว่า ต้นไผ่) อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เพียง 500 เมตร การเดินทางไปน้ำตกชั้นนี้ต้องเดินทางผ่านอุโมงค์ป่าไผ่ มีความยาว 50 เมตร ชั้นที่สอง ชื่อ “น้ำตกกลาง” ห่างจากชั้นที่ 1 ประมาณ 1 กิโลเมตร สภาพโดยรอบเป็นธรรมชาติอันสวยงามของพันธุ์ไม้ ดอกไม้ป่านานาชนิด และ ชั้นที่สาม คือ “น้ำตกตรอกนอง” ห่างจากชั้นที่ 2 ประมาณ 1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นลำธารที่ไหลตกมาจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร การเดินทางไปยังน้ำตก ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญในการนำทาง นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชั้นบนสุดนี้ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก่อน และสำหรับผู้ที่ต้องการพักแรมท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ สามารถนำเต็นท์มาตั้งแค้มป์พักแรมได้ โดยทางอุทยานฯ น้ำตกพลิ้ว มีเต็นท์ให้เช่า พักได้ 3-6 คน ราคา 250-500 บาท
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ นักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท
สถานที่พัก อุทยานฯ มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 4 หลัง พักได้ 6 คน ราคา 1,800 บาท ค่ายพักแรม พักได้ 30 คน ราคา 3,000 บาท มีเต็นท์ให้เช่าพักแรม พักได้ 2 คน ราคา 270 บาท และในกรณีที่นักท่องเที่ยว นำเต็นท์มาเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ ราคา 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว โทร.0 3943 4528 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 14 กิโลเมตร ไปตามถนนสุขุมวิท เส้นทางจันทบุรี-ขลุง กิโลเมตรที่ 346 มีทางแยกซ้ายไปน้ำตกพลิ้ว 2 กิโลเมตร หรือใช้บริการรถสองแถวจันทบุรี-น้ำตกพลิ้ว ค่าโดยสาร 30 บาท
ตั้งอยู่ในอำเภอท่าใหม่ ศูนย์ฯ อยู่ห่างจากอำเภอท่าใหม่ 25 กิโลเมตรตามเส้นทางสายท่าใหม่-บ้านหมูดุด เป็นศูนย์ฯ ที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2545 รางวัลประเภทรายการนำเที่ยว ประเภทองค์กรส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี
โครงการหนึ่งที่ศูนย์ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ใช้เวลาเดินเพียง 30-45 นาที บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 1,600 เมตร ทอดผ่านป่าชายเลนที่มีพันธุ์ไม้หลายชนิด จะทำให้ได้รับความรู้ และความประทับใจในธรรมชาติ มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติอยู่ตามบริเวณจุดต่าง ๆ ของสองข้างทาง ทำให้ทราบความสำคัญของป่าชายเลนนอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ชายฝั่งแล้ว ยังทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืน เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย นอกจากนี้จะเข้าใจได้ว่าไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันอย่างไร และมีประโยชน์กับเราอย่างไร อย่างเช่น ลำพูทะเล ที่งอกได้ดีในดินปนทราย จะเป็นผู้สะสมดินเลนทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ไม้อื่นได้งอกงามและก่อประโยชน์เป็นทอด ๆ ต่อกันไป ไม้แสมขาว นอกจากทำเป็นฟืนได้ หากแก่นยังนำไปต้มกับแก่น แสมสาร (ขี้เหล็กป่า) ช่วยขับโลหิตเสียของสตรีได้ กระพี้ เป็นยาแก้พิษงู ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของ ต้นตาตุ่มทะเล ใช้รักษาโรคเรื้อนได้ดี ประสักดอกแดง ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำต้น ฝักนำมาเชื่อมทานได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำฟืน เครื่องมือประมง หรือสร้างบ้าน และเปลือกนำมาย้อมหนังได้ ไม้โกงกาง นอกจากนำมาผลิตถ่านคุณภาพดีที่ให้ความร้อนสูงถึง 7,300 แคลอรี่ต่อกรัม คุนานและมีขี้เถ้าน้อย ยังนำมาทำเยื่อกระดาษได้ เปลือกเมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง อาเจียน และเปลือกตำละเอียดนำมาพอกแผลสด ห้ามเลือดได้ดี ในป่าชายเลนแห่งนี้ยังมีไม้อีกหลายชนิดที่นำมาทำประโยชน์ได้อีกมหาศาล ยังมีความรู้ ความงดงามจากธรรมชาติอีกมากมายที่จะได้รับจากสถานที่แห่งนี้ถ้าท่านตั้งใจจะไปสัมผัสอย่างแท้จริง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. การเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีบริการบ้านพักสำหรับบริการหน่วยงานรัฐที่ไปจัดอบรมสัมมนาด้วยโดยต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 3936 9216-8 โทรสาร 0 3936 9219
ในบริเวณเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็ม ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น., วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-17.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3936 9217-8 ต่อ 130
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น